การประชุมเรื่องทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพที่ ๑๑–๑๒ วันจันทร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐
ณ ห้องประชุมสุคนธา ฮอลล์ ชั้น ๖ โรงแรมเซ็นทารา ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
จัดโดย สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส. ม.อ) ขับเคลื่อนงานสานพลังภาคีเครือข่าย เสริมพลังกลไกที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน กำหนดทิศทางการดำเนินงานประสานการลงทุน และลดความซ้ำซ้อนในการทำงานร่วมกัน
วันจันทร์ ที่๑๒ มิถุนายน 2560 เวลา ๐๘.๓๐ –๑๖.๓๐น . ณ โรงแรมเซ็นทารา ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(สจรส.มอ.)ภายใต้โครงการศูนย์วิชาการสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ภาคใต้ (ศวสต.)นำโดยผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยสถาบันฯ ได้จัดให้มีการประชุมเรื่องทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพที่ ๑๑-๑๒การจัดประชุมในครั้งนี้เกิดจากสถานการณ์และผลการดำเนินงานร่วมกันที่ผ่านมาของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)รวมทั้งภาคประชาชนและประชาสังคมพบว่า ภาคใต้มีปัญหาสำคัญ ๔ ประเด็นหลัก คือ
๑. ประเด็นความมั่นคงทางมนุษย์ ภาวะคุกคามปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ปัญหาละเมิดสิทธิ ปัญหาความรุนแรง ที่กระทำต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่อาหารมีจำนวนลดลง การมีและการเข้าถึงอาหารลดลง ภาวะพึ่งพิงอาหารจากภายนอกมีจำนวนมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำในการมีและเข้าถึงอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร และการมีภาวะโภชนาการที่สมวัย
๓.ประเด็นความมั่นคงทางทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรลดน้อยลง ความสามารถในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน ความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ของทรัพยากร สถานการณ์และความรุนแรงด้านภัยพิบัติในพื้นที่ที่ต้องเผชิญ
๔.ประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพ แม้ว่าจะมีทิศทาง เครื่องมือ และกลไกในการจัดการระบบสุขภาพ เช่น กองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ธรรมนูญสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ เขตสุขภาพ แต่ยังพบว่าการเข้าถึงความครอบคลุมในการจัดการสุขภาพชุมชนยังพบความเหลื่อมล้ำทั้งในระบบการสร้างเสริมสุขภาพและระบบบริการสุขภาพ
การดำเนินงานที่ผ่านมาหน่วยงานและ ภาคี เครือข่ายดังกล่าวข้างต้น ต่างทำงานผ่านกลไกและภารกิจของหน่วยงานของตนซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมาอาจมีความซ้ำซ้อนของกิจกรรมต่าง ๆ อยู่บ้าง
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมอบหมายให้สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ภายใต้โครงการศูนย์วิชาการสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ภาคใต้ (ศวสต.)ดำเนินการจัดการประชุมเรื่องทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพที่ ๑๑-๑๒ ซึ่งการประชุมมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๒ ประการคือ
- เพื่อกำหนดประเด็นสุขภาพที่จะเป็นประเด็นร่วมในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) โดยเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับวิกฤตปัญหาของพื้นที่ และความต้องการของชุมชน
- เพื่อออกแบบวิธีการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นการสานพลัง เสริมพลังกลไกที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน ประสานการลงทุนร่วมกัน และลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม หน่วยงานผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน ๑๒๐ คน
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก จึงอาจจะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูล หลักคิดและแนวทางสำคัญ เพื่อนำไปสู่การออกแบบและกำหนดทิศทางการดำเนินงานร่วมกันต่อไป